ตำนานดาว 12

Sathon Vijarnwannaluk
8 min readJun 15, 2024

--

ดาวลูกไก่

ในกลุ่มดาววัว มีกระจุกดาวกระจุกหนึ่งซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นที่รู้จักกันในทุกวัฒนธรรม และมีชื่อเรียกต่างๆกันออกไปตามแต่ตำนานของแต่ละกลุ่ม เช่นคนไทยเรียก กระจุกดาวลูกไก่ ในแอฟริกา ชาวเบอร์เบอร์ เรียกว่า “ดาวสาวน้อยแห่งราตรี” ในกรีก เป็นเทพธิดาทั้ง 7 ในกลุ่ม Pleiades ซึ่งเป็นพี่น้องต่างมารดากับเทพธิดาในกลุ่ม Hyades ในเทพนิยายนอร์ส เรียกเป็นไก่ของเทวีเฟรยา(Freyja’s Hens) และในฮังการีก็เป็นกลุ่มดาวแม่ไก่และลูกไก่เช่นกัน [1] ส่วนในอินเดีย เรียกกระจุกดาวนี้ว่า “กฤตติกา” ซึ่งในหมายถึงเทพธิดาหกนางที่ช่วยดูแลพระขันทกุมารหรือกรรติเกยะในวัยเยาว์ ในอีกตำราหนึ่งคือ ในญี่ปุ่น เรียกกลุ่มดาวนี้ว่า Subaru ซึ่งหมายความถึงการเข้ามาร่วมมือกัน

ภาพถ่ายแสดงกลุ่มดาวลูกไก่(ขวามือเหนือยอดไม้) กับกระจุกหน้าวัว(กลางภาพ) และดาวนายพราน(ซ้ายมือ) ถ่ายโดย สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ วันที่ 11 มกราคม 2562 กล้อง Nikon D3500 Focal length 18มม. F:3.5 ISO 6400 เปิดหน้ากล้อง 20 วินาที

ในวรรณคดีไทย บทประพันธ์ที่กล่าวถึงดาวลูกไก่ ที่เป็นที่รู้จักกันมากได้แก่ บทประพันธ์เรื่อง พระอภัยมณี ของพระสุนทรโวหาร(ภู่) หรือสุนทรภู่ ในตอนที่นางสุวรรณมาลี สอนสินสมุทร และนางอรุณรัศมี ดูดาว โดยกล่าวว่า

“ดูโน่นแน่ แม่อรุณรัศมี ตรงมือชี้ดาวเต่านั่นดาวไถ

โน่นดาวธงตรงหน้าอาชาไนย ดาวลูกไก่เคียงอยู่เป็นหมู่กัน”

ซึ่งระบุได้ว่าตำนานของดาวลูกไก่เป็นที่แพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงต้นของกรุง รัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึง ดาวลูกไก่ในชื่อ กฤตติกา ในอีกหลายแหล่ง ซึ่งเป็นไปตามการรับแนวคิดมาจากอินเดีย

แต่เรื่องราวของดาวลูกไก่ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดน่าจะมาจากเพลงแหล่ ที่ร้องโดย พร ภิรมย์ (ชื่อจริง บุญสม มีสมวงษ์ หรือ พระปุญญวังโส) ซึ่งมีเนื้ออ้างอิงถึงนิทานพื้นบ้าน(บ้างว่ามาจากนิทานชาดก บ้างว่ามาจากนิทานอีสป แต่เท่าที่พยายามสอบทานดูยังไม่พบเรื่องที่ตรงกับเรื่องดาวลูกไก่ จึงขอกล่าวว่าเป็นนิทานพื้นบ้านไปพลางก่อน) เรื่องของแม่ไก่ และลูกไก่ กับ ตายายและ พระปัจจเจกพุทธเจ้า หรือบ้างก็ว่าพระธุดงค์ ดังมีเนื้อความดังนี้

“.โอ้ชีวิตคิดไฉน ว่าใครหนอใครลิขิต

ประกาศิตของศิวะ

หรือของพระพรหมเจ้า

ว่าต่างกำเนิดเกิดมา พอลืมตามองโลก

บ้างมีโชคบ้างอับโชค มีสุขโศกปนเศร้า

จอมนราพิสุทธ์ ท่านสอนพุทธบริษัท

เป็นธรรมะปรมัต

อ่านถึงอำนาจกรรมเก่า

ว่ากุสะลาธรรมา มนุษย์เกิดมามีสุข

อกุสะลาพาให้ทุกข์ ดังไฟที่ลุกรุมเร้า

บ้างกึ่งดีกึ่งชั่ว เพราะตัวของตัวมั่ววุ่น

สร้างทั้งบุญทั้งบาป

เหมือนคำที่ฉาบด้วยขาว

ผมมิใช่บัณฑิต อันมีจิตสิเหน่หา

ที่จะเป็นนักเทศนา มาเจรจายั่วเย้า

จิตตั้งศรัทธาสาทก เรื่องยาจกยากจน

มีตากับยายสองคน

ปลูกบ้านอยู่บนเชิงเขา

แกเลี้ยงแม่ไก่อู มีลูกอยู่เจ็ดตัว

เช้าก็ออกริมรั้ว จิกกินเม็ดถั่วเม็ดข้าว

เวลามีเหยี่ยวเฉี่ยวโฉบ

นังแม่ก็โอบปีกอุ้ม กางสองปีกออกคลุม

พาลูกทั้งกลุ่มเข้าเล้า

แม่ไก่จะปลอบขวัญลูก

เสียงกุ๊กๆปลุกขวัญ ลูกตอบเจี๊ยบๆดังลั่น

ทั้งๆที่ขวัญเขย่า แล้วเขี่ยข้าวออกเผื่อ

ต่างคุ้ยเหยื่อออกให้ ลูกไก่แม่ไก่ไร้ทุกข์

ซิไม่มีสุขใดเท่า ถึงคราวจะสิ้นชีวิต

เมื่ออาทิตย์อัสดง ยังมีภิกษุหนึ่งองค์

เดินออกจากชายเขา ธุดงค์เดียวด้นดั้น

เห็นสายัณห์สมัย หยุดกลางพลางทันใด

หลังบ้านตายายผู้เฒ่า

อยากรู้เรื่องต่อก็ต้อง

ไปเปิดหน้าสองฟังเอา...”

เรื่องราวต่อมาเป็นดังนี้

“พระธุดงค์ทรงกลด ตะวันก็หมดแสงส่อง

อาศัยโคมทองจันทรา

ที่ลอยขึ้นมายอดเขา ฝ่ายว่าสองยายตา

จึงเกิดศรัทธาสงสาร พระผู้ภิกขาจารย์

จะขาดอาหารมื้อเช้า

อยู่ดงกันดารป่านนี้ หรือก็ไม่มีบ้านอื่น

ข้าวจะกล้ำน้ำจะกลืน

จะมีใครยื่นให้เล่า

พวกฟักแฟงแตงกวา

ของเราก็มาตายหมด

นึกสงสารเพราะจะอด

ทั้งสองกำสรดโศกเศร้า

สักครู่หนึ่งตาจึงเอ่ย

นี่แน่ะยายเอ๋ยตอนแจ้ง

ต้องเชือดแม่ไก่แล้วแกง

ฝ่ายยายไม่แย้งตาเฒ่า ฝ่ายแม่ไก่ได้ยิน

น้ำตารินรี่ไหล ครั้นจะรีบหนีไป

ก็คงต้องตายเปล่าๆ อนิจจาแม่ไก่

ยังมีน้ำใจรู้คุณ ที่ยายตาการุณ

คิดแทนคุณเม็ดข้าว น้ำตาไหลเรียกลูก

เข้ามาซุกซอกอก น้ำตาแม่ไก่ไหลตก

ในหัวอกปวดร้าว อ้าปากออกบอกลูก

แม่ต้องถูกตาเชือด คอยดูเลือดแม่ไหล

พรุ่งนี้ต้องตายจากเจ้า

มาเถิดลูกมาซุกอก ให้แม่กกก่อนตาย

แม่ขอจะกกเป็นครั้งสุดท้าย

แม่ต้องตายตอนเช้า

อย่าทะเลาะเบาะแว้ง

อย่าขัดแย้งเหยียดหยัน

เจ้าจงรู้จักรักกัน อย่าผลุนผลันสะเพร่า

เจ้าตัวใหญ่สายสวาท

อย่าเกรี้ยวกราดน้องน้อง

จงปกครองดูแล ให้เหมือนแม่เลี้ยงเจ้า

น่าสงสารแม่ไก่ น้ำตาไหลสอนลูก

เช้าก็ถูกตาเชือด ต้องหลั่งเลือดนองเล้า

ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด เหมือนถูกเด็ดดวงใจ

จึงพากันโดดเข้ากองไฟ

ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว

ด้วยอานิสงฆ์อันประเสริฐ

ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว”

นับเป็นตำนานพื้นบ้านของดาวลูกไก่ที่แพร่หลายอยู่ในประเทศไทย ขณะที่ชาวไทยทางภาคอีสาน และภาคเหนือก็มีเรียกกระจุกนี้ว่า “ดาววี” ที่แปลว่าพัด เนื่องจากรูปร่างของดาวที่คล้ายพัด หรือเรียกว่า “ดาวไก่หน้อย” ซึ่งมีความหมายเดียวกับดาวลูกไก่[2]

ในกลุ่มดาวสากล เรียกกระจุกดาวลูกไก่ว่า “Pleiades” ตามชื่อของกระจุกในตำนานกรีก โดยกล่าวว่าเป็นกลุ่มของเทพธิดา(Seven Sisters of Atlas) ที่เป็นลูกของ Atlas (เทพไททัน ที่ถูกสาปให้ไปแบกโลก) กับนาง Pleione โดยมีชื่อว่าMaia, Electra, Taygete, Celaeno, Alcyone, Sterope,และ Merope[3] โดยมีตำนานเล่าเป็นสองกระแส กระแสหนึ่งเล่าว่านางเทพธิดาทั้ง 7 ได้กลายเป็นกระจุกดาวเนื่องจากความโศกเศร้าที่สูญเสียพี่น้องในกลุ่ม Hyades จึงฆ่าตัวตายตาม ในอีกกระแสกล่าวว่า นายพราน Orion พึงใจในหนึ่งในนางเทพธิดา จึงตามไล่ล่าเป็นเวลา 7 ปี เทพ ซูส สงสารจึงเปลี่ยนนางเทพธิดาทั้ง 7 เป็นกระจุกดาว แต่ก็ยังถูกไล่ล่าไปบนท้องฟ้าโดยโอไรออน ซึ่งเป็นกลุ่มดาวเช่นกัน( และขึ้นหลังจากกลุ่มดาวลูกไก่) ตามตำนานกล่าวว่าดวงที่จางที่สุดได้แก่ Mirope เนื่องจากอายที่มีคู่เป็นมนุษย์ (Sisyphus) เพียงผู้เดียว หรือ Electra :ซึ่งโศกเศร้าจากการที่กองทัพกรีกตีเมืองทรอย ที่เป็นเมืองที่อุทิศแก่ลูกชายของนางกับเทพเจ้า ซูส ที่ชื่อ Dardanus (ในความเป็นจริงดาวฤกษ์ในกระจุกที่จางที่สุดไม่ใช่ทั้ง Mirope และ Electra)

ในอีกด้านหนึ่งมีข้อเสนอว่าคำว่า Pleiades อาจจะแปลมาจากคำว่า

ที่แปลว่า “ออกเดินเรือ”[4] โดยอ้างอิงจากการที่กลุ่มดาวนี้จะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ในเดือนพฤษภาคม ที่เป็นเดือนเริ่มการเดินเรือของชาวกรีก และจะสิ้นสุดในปลายฤดูใบไม้ร่วง

ในอีกด้าน กลุ่มกวี เช่น Hesiod และ Homer กล่าวถึงกระจุกดาวนี้ว่าคือกลุ่มนกพิราบ 7 ตัวที่นำอาหารทิพย์ไปให้กับทารกซูส และสมาชิกตัวหนึ่งถูกหินซิมเพลกะดิส(Symplegades) บดขยี้ระหว่างบินผ่าน ซึ่งต่อมาก็ได้รับการเปลี่ยนเป็นกระจุกดาว

ชาวอาหรับเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า Al Thurayya ซึ่งเป็นภาษาอาหรับโบราณก่อนสมัยอิสลาม เป็นคำย่อโดยมีความหมายรวมว่า “เจ้าตัวน้อยที่มีจำนวนมาก”[5] ที่สื่อถึงความเป็นกระจุกดาว หรือ ฝนซึ่งตกมากในช่วงเวลาที่ดาวกลุ่มนี้ขึ้นบนท้องฟ้า ซึ่งกระจุกดาวนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระจุกดาวอาหรับโบราณ ที่ชื่อ แขนของทุรายยาห์( Hand of Thurayysa) ที่ประกอบด้วยกลุ่มดาวสากลถึงสี่กลุ่ม คือ Cetus , Taurus, Perseus และ Cassiopia โดยมีแขนสองข้าง ข้างซ้าย เรียกว่ามือที่ถูกตัดออก(The Amputated Hand :al-kaf al-jadhma’, الكف الجذماء) อยู่ในกลุ่มดาวสากลในกลุ่มดาว Ceti เป็นชื่อของ แกมมา-Ceti ที่เรียกว่า Kaffaljidhmah ซึ่งใกล้เคียงกับภาษาอาหรับ al-kaf al-jadhma’ ที่สุด ขณะที่แขนขวา เรียกว่า มือที่มีรอยเฮนนาห์(the Henna-Dyed Hand :al-kaf al-khadib الكف الخضيب) ได้แก่ดาวในกลุ่มดาวแคสสิโอเปีย ซึ่งคำว่าKaf สันนิษฐานว่ากร่อนมาเป็นชื่อ Caph :ซึ่งเป็นชื่อสามัญของ เบตา-แคสสิโอเปีย ตรงกลาง ในกลุ่มTaurus และ Perseus เป็นส่วนของไหล่ และแขน ซึ่งสอดคล้องกับชื่อดาวในกลุ่ม Perseus ดังนี้

ซึ่งชื่อ Thuraya นิยมนำมาตั้งเป็นชื่อผู้หญิงในภาษาอาหรับ

ในกลุ่มประเทศเปอร์เซีย(อิหร่าน)จนถึงกลุ่มชนที่ใช้ภาษาอูรดูในประเทศอินเดีย เรียกชื่อกลุ่มดาวนี้ว่า Praveen หรือบางครั้งเรียกป็น Pavin หรือ Pavi (روین Parvīn หรือ پروی Parvī) มีความหมายถึงกระจุกดาวลูกไก่เช่นกัน และเป็นกลุ่มดาวที่นิยมนำมาตั้งชื่อบุคคลในประเทศดังกล่าว ขณะที่ชาวฮินดูในประเทศอินเดียเรียกกลุ่มดาวนี้ว่า “กฤตติกา” เป็นดาวนักษัตรที่ 3 ใน 27 กลุ่ม ซึ่งกล่าวว่าเป็นชื่อของภริยาฤษี 6 นาง[6] ที่เลี้ยงดูพระขันธกุมารในวัยเยาว์ ส่งผลให้พระขันธกุมารมีอีกชื่อหนึ่งว่า กรรติเกยะ ที่มีความหมายว่า “เนื่องด้วยนางกฤตติกา” ในอีกตำราหนึ่ง[7]กล่าวว่ากระจุกดาวนี้เรียกว่าดาวแห่งเพลิง ตามพระเพลิงหรืออัคนี ซึ่งเป็นหนึ่งในดาวนักษัตรสำคัญที่เกี่ยวกับความโกรธ และความดื้อรั้น ในภาษาทมิฬ คำว่ากัตติไกย (கார்த்திகை) หมายถึงภริยาของฤาษี 6 ตน(สัปตฤาษี ซึ่งคือดาวฤกษ์ทั้งเจ็ดในกลุ่มดาวหมีใหญ่) ที่มารักกับพระเพลิง ขณะที่นางที่ 7 ที่ไม่หวั่นไหวกับพระเพลิง คือนาง อรุณธาติ ชายาของฤาษีวสิษฐ์ ซึ่งหมายถึงดาวฤกษ์ Alcor ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ ด้วยเหตุดังกล่าว นางทั้งหกจึงถูกขับออกจากอาศรมและเคลื่อนออกมาทางขอบฟ้าตะวันออกจนกลายเป็นกระจุกดาวกฤตติกานั่นเอง

ชาวจีนและเกาหลี เรียกดาวนี้เหมือนกันว่า Mao หรือ Myo( 묘성, ในภาษาเกาหลี 昴星 ในภาษาจีน คำว่า 성 หรือ 星 หมายถึงดาว ส่วนMao หรือ Myo หมายถึงส่วนหัวของกลุ่มดาวนักษัตรเจ็ดกลุ่มที่รวมกันเป็นกลุ่มดาวเสือขาวทางทิศตะวันตก ในกลุ่มดาวนักษัตรตามทิศของจีนได้แก่ เต่าดำทางทิศเหนือ มังกรสีน้ำเงินทางตะวันออก เสือขาวทางทิศตะวันตก และ หงส์(หรือฟินิกส์)สีแดงทางใต้ ส่วนพื้นที่เหนือศีรษะคือพื้นที่กลุ่มดาวของจักรพรรดิ์ [8] ดาวAlcyoneในกลุ่มดาวลูกไก่ เป็นดาวที่กำหนดเป็นส่วนหัวของเสือขาวตามแผนที่ดาวของจีน

ชาวญี่ปุ่นเรียกกระจุกดาวนี้ว่า “Subaru” ซึ่งหมายถึงการเข้ามาร่วมกัน อาจจะหมายถึงการที่มีดาวจำนวนมากมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งชื่อนี้มีที่มาที่เก่าแก่ไปถึงกลุ่มชนพื้นเมืองของญี่ปุ่น(ชาวไอนุ)[9] ถึงเรื่องราวของพี่น้องหญิงเจ็ดคน แต่ตำนานเหล่านี้ก็ลางเลือนไปกับกาลเวลา และการเข้ามาของศาสนาชินโต ที่แม้จะมีการกล่าวถึงอยู่บ้างในบันทึกในศตวรรษที่ 8 ก็ไม่ชัดเจนนัก

ในจารึกที่เรียกว่า The three stars each Tablet สมัยบาบิโลเนียนเมื่อ 1100 ปีก่อนคริสตกาล เรียกดาวลูกไก่ว่า MULMUL ซึ่งมีความหมายว่า star of stars ในกลุ่มดาวของ Elam [10]และดาวลูกไก่อยู่ในกลุ่มต้นๆของดาวในกลุ่มแนวสุริยวิถี ในจารึก อาจจะเนื่องมาจากตำแหน่งที่เส้นสุริยวิถีตัดกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าหรือที่เรียกว่าจุดวสันตวิษุวัต(vernal equinox)ในยุคนั้นอยู่ใกล้กลุ่มดาวลูกไก่พอดี

ในทางดาราศาสตร์ กระจุกดาวลูกไก่เป็นกระจุกดาวเปิด(Open Clusters) ที่มีดาวฤกษ์เป็นสมาชิกในระดับขนาด 1000 ดวง[11] ที่มีดาวฤกษ์ส่วนใหญ่เป็นดาวฤกษ์สีน้ำเงินในกลุ่มสเปกตรัม B แสดงให้เห็นว่าเป็นกระจุกดาวที่มีอายุไม่มากนัก ประมาณ 100 ล้านปี อยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 136.2 ปาร์เสก[12](แต่ละดวงอาจจะมีระยะห่างต่างกันเล็กน้อย) จากข้อมูลของดาวเทียม Gaia เมื่อปี ค.ศ.2018 ทั้งนี้รายชื่อดาวฤกษ์ดวงสว่างในกระจุกดาวลูกไก่มีดังนี้[13]

ชื่อดาวในกระจุกดาวดังกล่าวเป็นชื่อของเทพธิดาในกลุ่มประกอบด้วย Asterope, Merope, Electra, Maia, Taygeta, Celaeno, และ Alcyone, และได้รวม Atlas ที่เป็นพ่อ และ Plione ที่เป็นแม่ไว้ด้วย ตำแหน่งของดาวดวงต่างๆในกระจุกได้แสดงไว้ดังนี้

เมื่อพิจารณาแต่ละดวง มีรายละเอียดดังนี้

Atlas ผู้เป็นบิดาของเทพธิดาทั้งเจ็ด เป็นเทพในกลุ่มไททัน บ้างว่าเป็นบุตรของ Iapetus และนางอัปษร Clymene หรือ Asia (เทพธิดาแห่งทวีปเอเชีย)[14] บ้างก็ว่าเป็นบุตรของ Aether กับ Gaea (โลกมารดา)[15] และเป็นพี่น้องกับ Prometheus (ผู้สร้างมนุษย์ และมอบไฟให้ใช้) และ Epimetheus (ผู้สร้างสรรพสัตว์) และ Menoetius (เทพแห่งความโกรธ และความหุนหันพลันแล่น) เมื่อซูส ยึดอำนาจจาก Cronos ผู้เป็นพ่อ Atlas และ Menoetius เข้าร่วมกับเทพไททันทำสงครามกับซูศ แต่พ่ายแพ้ ขณะที่เทพไททันองค์อื่นถูกขังในตรุทาร์ทารัส แอตลาสถูกสาปให้แบกท้องฟ้าอยู่ที่ขอบโลกทิศตะวันตก แอตลาสมีบุตรสาวกับเทพธิดาหลายองค์ เช่นกับนางPleione คือกลุ่มดาวลูกไก่ กับนาง Aethra ได้แก่กลุ่ม Hyades (กระจุกหน้าวัว) และกับนาง Hesperis คือกลุ่มนางอัปษร Hesperides หรือ เทพธิดาแห่งสายันต์(Nymph of evening) ที่ทำหน้าที่ดูแลสวนแอปเปิลทองคำของ Hera

เรื่องราวของแอตลาสเกี่ยวข้องกับวีรบุรุษตามตำนานกรีกสองคน คือ เฮราคลีส(Heracles) หรือ เฮอคิวลิส(Hercules) กับ เปอร์ซิอุส(Perseus) ในส่วนของเฮอคิวลิสนั้นพบกับแอตลาสระหว่างทำภารกิจสิบสองประการ หนึ่งในนั้นคือการหาผลแอปเปิลทองคำของ Hera ซึ่งเฮอคิวลิสได้ตกลงที่จะแบกท้องฟ้าแทนแอตลาส สองสามวัน ระหว่างที่แอตลาสไปเอาแอปเปิลทองคำมาจากลูกสาว แต่เมื่อได้แอปเปิลทองคำมาแล้วแอตลาสต้องการทิ้งให้เฮอคิวลิสรับภาระแทน จึงอาสาจะเอาแอปเปิลทองคำไปส่งมอบเอง ซึ่งเฮอคิวลิสรู้ทันจึงแสร้งรับปาก แต่ขอให้แอตลาสรับท้องฟ้าไปถือแทนชั่วคราว เพื่อจัดแจงเครื่องแต่งกายให้รัดกุม แต่เมื่อแอตลาสรับท้องฟ้ากลับไปเฮอคิวลิสก็ฉวยแอปเปิลทองคำหนีไป ส่วนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเปอร์ซิอุส กล่าวว่า ระหว่างที่เปอร์ซีอุสกำลังนำศีรษะของนางเมดูซา ไปมอบให้ Polydectes ได้ผ่านมายังเมืองของแอตลาสและขอพัก แต่เนื่องจากแอตลาสที่เคยได้ยินคำทำนายว่าบุตรของซูสจะมาช่วงชิงแอปเปิลทองคำจึงปฏิเสธที่จะให้ที่พักแก่เปอร์ซิอุส(นัยว่าเป็นการผิดมารยาทอย่างร้ายแรง) เปอร์ซิอุสจึงใช้ศีรษะนางเมดูซาเปลี่ยนแอตลาสเป็นภูเขาไป(เรื่องนี้อาจจะเขียนแยกกับตำนานของแอตลาสกับเฮอคิวลีส เพราะตามเวลาแล้วจะเกิดก่อน)

ในทางดาราศาสตร์ แอตลาส[16] เป็นดาวฤกษ์ชนิด B8III คือเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงิน มีอุณหภูมิประมาณ 13400 เคลวิน และโชติมาตรปรากฏ +3.62 มีมวล 4.74 มวลสุริยะ และรัศมี 2.0 รัศมีสุริยะ แอตลาสเป็นหนึ่งในระบบดาวสามดวง ที่โคจรรอบกันด้วยคาบ 290 วัน ดาวคู่ Atlas B มีมวล 3.42 มวลสุริยะ และอยู่ห่างจากAtlas A เป็นระยะทาง 1.53 AU

Pleione ภรรยาของแอตลาส และแม่ของเทพธิดาทั้งเจ็ดในกระจุกดาวลูกไก่ นางPleione เป็นนางอัปษรในกลุ่ม Oceanids หรือเทพธิดาผู้ดูแลมหาสมุทร เป็นหนึ่งในลูกสาวทั้งสามพันของเทพไททัน Okeanos และ Tethys ที่เป็นเทพแห่งท้องทะเล และPleione เป็นเทพแห่งการเดินเรือ

ในทางดาราศาสตร์ Pleione[17] เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มดาวลูกไก่ มีสเปกตรัม B8IVpe คือเป็นดาวยักษ์แคระสีน้ำเงิน ที่มีลักษณะพิเศษคือมีเส้นสเปกตรัมเปล่งออก(Emission Spectra)ของแก๊สที่ห่อหุ้มปรากฏอยู่ด้วย อยู่ห่างจากโลกไป 138 ปาร์เสก มีมวล 2.888 มวลสุริยะ และรัศมี 3.701 รัศมีสุริยะ มีอุณหภูมิยังผล 11000 เคลวิน มีกำลังส่องสว่าง 184 เท่าของดวงอาทิตย์ และจัดว่าเป็นดาวฤกษ์ที่หมุนรอบตัวเองเร็วที่สุดดวงหนึ่ง ที่ 290 กิโลเมตรต่อวินาที แต่มีโชติมาตรไม่สูงนัก คือระหว่าง 4.77-5.50 เมื่อเทียบกับ Atlas ที่อยู่ใกล้กัน แต่สว่างกว่ามากทำให้โอกาสจะมองเห็นPleione น้อยลงไปด้วย นอกจากนี้พบว่า Pleione มีการเปลี่ยนเฟสไปมาระหว่าง ดาวฤกษ์สเปกตรัม B ปรกติ ดาวฤกษ์สเปกตรัม Be และลักษณะของสเปกตรัมแบบ Be Shell (ที่มีเปลือกนอกห่อหุ้มอยู่) ในปี 1996[18] และพบว่าPleione เป็นดาวคู่แบบสเปกโตรสโคปิก ที่ข้อมูลของสมาชิกอีกดวงยังไม่แน่ชัด[19]แต่ประมาณว่ามีคาบประมาณ 218 วัน

Alcyone ดาวดวงที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ ตำนานกรีกกล่าวว่า Alcyone เป็นลูกของAtlas กับนาง Pleione และเป็นชายาของสมุทรเทพPoseidon และมีบุตรด้วยกันหลายคน หนึ่งในนั้นได้แก่ Hyrieus ในภาษาอาหรับเรียก Al Jauz ที่แปลว่า ลูกวอลนัท หรือ Al Jaujah หรือ Al Wasat ที่แปลว่าดวงกลาง (ซ้ำกับorion) หรือบางครั้งเรียกว่า Al Nair ที่แปลว่าดาวดวงสว่าง[20]

ในทางดาราศาสตร์ Alcyone เป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดในกระจุกดาวลูกไก่ มีอันดับความสว่าง +2.86 ละมีสเปกตรัมแบบ B7IIIe คือเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงิน ละมีเส้นสเปกตรัมเปล่งออก(ดาวกลุ่ม Be)เหมือนกับ Pleione มีชื่อในระบบ Byer ว่า h Tauri มีอุณหภูมิยังผล 12,258 เคลวิน[21] มวลประมาณ 6.0 มวลสุริยะ และรัศมี 9.3 รัศมีสุริยะ และเช่นเดียวกับPleione และ Atlas Alcyone เป็นระบบดาวหลายดวง โคจรร่วมกัน โดยมีดาวสมาชิกอย่างน้อยอีกสามดวง[22]

Electra[23] เป็นหนึ่งในพี่น้องที่กล่าวกันว่าเป็นดาวที่หรี่แสงลงเนื่องจากความเสียใจ อิเลกตราเป็นหนึ่งในพี่น้องPleiades ที่แต่งงานกับเทพแห่งทะเล Thaumas และเป็นแม่ของIris เทพแห่งสายรุ้ง และ เทพแห่งสายลม Harpyiai (Harpies) และมีลูกชายชื่อ Dardanus ซึ่งเป็นผู้สร้างกรุงทรอย ตำนานเล่าว่าด้วยความโศกเศร้าที่กรุงทรอยถูกกองทัพกรีกตีแตก แสงของดาวelectra จึงสลัวลง

ในทางดาราศาสตร์ Electra[24] เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม B6IIIe[25] คือเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงินที่มีเส้นสเปกตรัมเปล่งออก (เช่นเดียวกับ Pleione และ Alcyone) มีโชติมาตรปรากฏ 3.70[26] อุณหภูมิยังผลประมาณ 13,500 เคลวิน[27] มีมวล 4.6 มวลสุริยะ[28] และรัศมี 6.06 [29]เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์

Maia เป็นพี่สาวคนโตในกลุ่มเทพธิดาทั้ง 7 เป็นชายาของซูส และแม่ของ Hermes[30] (หรือ Mercury ในภาษาโรมัน) เป็นเทพธิดาที่มีนิสัยขี้อาย ตำนานกล่าวว่านางอาศัยอยู่ตามลำพังในถ้ำใกล้ยอดเขา Kyllene ใน Arkadia และตำนานยังกล่าวว่าขณะที่นาง Callisto ชายาอีกนางของซูส ถูกสาปให้เป็นหมีโดยเทพี Hera และถูกสังหารในเวลาต่อมานั้นนั้น Maia ได้รับเลี้ยงดู Arkas ลูกชายของนาง Callisto ด้วย

ในทางดาราศาสตร์ Maia[31] เป็นดาวในกลุ่มสเปกตรัม B8III คือเป็นดาวยักษ์สีน้ำเงิน มีอุณหภูมิยังผล 12,300 เคลวิน และมีโชติมาตร 3.87 มีมวล 3.77 มวลสุริยะ และรัศมี 3.59 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ โดยรอบ Maia มีเนบูลาสะท้อนแสงทำให้เห็นแถบสว่างล้อมรอบ

Merope เป็นเทพธิดานางเดียวในกลุ่มที่แต่งงานกับคนธรรมดา Merope แต่งงานกับกษัตริย์ Sisyphus แห่ง Corinth และอยู่ที่เกาะ Chios[32] Merope ถูกขนานนามว่า เป็น “the lost Pleaides” เนื่องจากมีความสว่างน้อยกว่าดวงอื่น เนื่องจากนางรู้สึกอับอายที่ต้องแต่งงานกับคนธรรมดา

ในทางดาราศาสตร์ Merope เป็นดาวในกลุ่มสเปกตรัม B6IVe คือเป็นดาวยักษ์แคระสีน้ำเงิน คือมีขนาดใหญ่กว่าดาวฤกษ์ในแถบกระบวนหลักแต่เล็กกว่าดาวยักษ์ และมีสเปกตรัมเปล่งออก มีอุณหภูมิยังผล 14,550 เคลวิน มวล 4.25 มวลสุริยะ รัศมี 7.7 เท่าของดวงอาทิตย์ (เนื่องจากมีมวลมากกว่า Electra แม้รัศมีจะมากกว่าแต่ยังไม่จัดเป็นกลุ่มดาวยักษ์) Merope มีโชติมาตรปรากฏ 4.18 มีกำลังส่องสว่าง 927 เท่าของดวงอาทิตย์ [33]

นอกจากนี้ Merope ยังจัดเป็นดาวแปรแสง ชนิด Beta Cephei type variable star โดยมีการแปรแสงที่ทำให้ค่าโชติมาตรเปลี่ยนแปลงในระดับ 0.01

Taygeta หรือ Taygete เป็นอีกนางหนึ่งที่เป็นชายาของซูส (แม้ตำนานจะกล่าว่าไม่เต็มใจหรือถูกล่อลวง) บางตำนานกล่าวว่านางร้องขอต่อเทวีอาร์เตมิส ให้ช่วยจากการรังควานของซูส เทวีอาร์เตมิสจึงเปลี่ยนนางเป็นกวางที่มีเขาทองคำ แต่ว่าก็สายเกินไป ต่อมาหลังจากนางกลับคืนร่างเดิม นางจึงได้มอบฝูงกวางเขาทองคำให้แก่อาร์เตมิสเป็นการขอบคุณ ตำนานกล่าวว่าหลังจากนั้นนางพำนักที่เขา Taygetos ทางตอนใต้ของกรีซ นางมีบุตรกับซูส หนึ่งคน ชื่อ Lacedaemon ซึ่งต่อมาแต่งงานกับราชินีของแคว้นสปาร์ตา(บ้างกล่าวว่าราชินีนามสปาร์ตา) และตั้งเมืองสปาร์ตาขึ้น ถือว่าเป็นต้นตระกูลของกษัตริย์สปาร์ตา[34]

ในทางดาราศาสตร์ Taygeta มีชื่อว่า 19 Tauri [35]เป็นระบบดาวมากกว่า 2 ดวง ดวงหลัก เป็นระบบดาวคู่ ที่มีชื่อว่า 19 Tauri Aa และ 19 Tauri Ab และมีสมาชิกดวงที่ 3 ที่ชื่อว่า 19 Tauri B ดาว 19 Tauri Aa เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม B6IV เป็นดาวยักษ์แคระสีน้ำเงิน มีอุณหภูมิยังผล 13400 เคลวิน[36] มีมวล 4.50 มวลสุริยะ และมีกำลังส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 600 เท่า นักดาราศาสตร์คาดว่า 19 Tauri Aa กำลังจะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนหมด กำลังจะเปลี่ยนไปสู่ดาวยักษ์แดง(อยู่ที่จุดที่เรียกว่า kneecap) จึงเหมาะที่จะใช้เป็นตัวอย่างในการประมาณอายุของกระจุกดาวลูกไก่ สำหรับดาวฤกษ์ 19 Tauri Ab อยู่ห่างจาก 19 Tauri Aa 0.012 พิลิปดา และโคจรรอบ19 Tauri Aa ด้วยคาบ 1313 วัน ดาวฤกษ์ 19 Tauri Ab มีมวล 3.2 มวลสุริยะ และมีกำลังส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 150 เท่า สำหรับ 19 Tauri B เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม F0 มีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์เล็กน้อย อยู่ห่างออกไป 69 พิลิปดาและมี คาบประมาณ 300,000 ปี

Celaeno เป็นชื่อที่มีการกล่าวถึงบ่อยครั้งและหมายถึงบุคคลต่างๆกัน ในกรณีของสมาชิกของกลุ่มดาวลูกไก่ Celaeno แต่งงานกับ เทพโปไซดอน และมีลูกด้วยกันหลายคน เช่น Lycus, Eurypylus, TRITON, และNycteus ในบางตำนาน Celaeno เป็นปีศาจในกลุ่ม Harpy ที่มีตัวและหัวเป็นมนุษย์ แต่มีปีกและขาเป็นนกอินทรี[37] นอกจากนี้ Theon the younger เรียก Celaeno ว่า The lost Pleiades ตามเรื่องเล่าที่ว่าเป็นกระจุกดาวที่มองเห็นเพียงหกดวง และดวงที่ 7 หายไป[38]

ในทางดาราศาสตร์ Celaeno มีชื่อเรียกว่า 16 Tauri เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม B7IV คือดาวยักษ์แคระสีน้ำเงิน มีอุณหภูมิยังผล 12,800 เคลวิน มีมวล 4.0 มวลสุริยะ และรัศมี 4.4 เท่าของดวงอาทิตย์ มีกำลังส่องสว่าง 344 เท่าของดวงอาทิตย์[39] มีโชติมาตร +5.448

Asterope หรือ Sterope I เช่นเดียวกับ Celaeno ชื่อ Asterope หมายถึงบุคคลหลายคน หนึ่งในนั้นคือสมาชิกของกลุ่มดาวลูกไก่ เป็นลูกของ Atlas และ Pleione อยู่ที่ภูเขา Cyllene ใน Arcadia ตำนานหลายฉบับกล่าวว่า Asterope เป็นชายาของเทพ Ares และมีบุตรเป็นกษัตริย์แห่งเมืองPisa ชื่อ Oenomaus แต่บางตำนานก็กล่าวว่านางเป็นชายาของ Oenomaus [40]บางตำนานกล่าวว่า Asterope เป็นหนึ่งในเทพ Oceanids 3000 องค์ ที่เป็นลูกของ Oceanus และ Thetis

ในทางดาราศาสตร์ Asterope มีอีกชื่อหนึ่งว่า 21 Tauri เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม B8V คือเป็นดาวฤกษ์ในแถบกระบวนหลักสีน้ำเงิน มีอุณหภูมิยังผล 11,041 เคลวิน มีมวล 2.93มวลสุริยะ และ กำลังส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ 100 เท่า[41] มีโชติมาตรปรากฏ 5.76 เป็นดาวคู่กับ Sterope หรือ Sterope II

Sterope หรือ Sterope II หรือ 22 Tauri เป็นดาวคู่ของ Asterope มีโชติมาตร 6.43 ซึ่งแสดงว่าไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า Sterope II เป็นดาวฤกษ์ในกลุ่มสเปกตรัม A0V (บ้างก็ว่า B9V) คือเป็นดาวฤกษ์ในแถบกระบวนหลัก ที่มีอุณหภูมิประมาณ 11,800 เคลวิน (ถ้าตามนี้ควรจะเป็น B9V) มีมวลใกล้เคียงกับ Asterope และมีรัศมี 3.1 เท่าของรัศมีดวงอาทิตย์ และมีกำลังส่องสว่าง 63.6 เท่าของดวงอาทิตย์ [42]

อ้างอิง

[1] “Pleiades in folklore and literature”, Wikipedia, retrieved May,8,2019

[2] นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว, ไทบ้านดูดาว, สำนักพิมพ์ศยาม,พ.ศ.2552

[3] Encyclopedia Britannica online, retrieved August 8, 2022.

https://www.britannica.com/topic/Pleiades-Greek-mythology

[4] Richard Hinckley Allen, Star names their lore and meaning, Dover publications, Inc., NewYork,1963, PP.395

[5] Arab Star Calendars | Two Deserts, One Sky » Thuraya, the Abundant Darling of the Heavens (arizona.edu) retrieved August 14, 2022

[6] อ้างอิงจาก เมฆทูต เพลงรักแห่งวสันตฤดู ของกาลิทาส แปลโดย กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย สำนักพิมพ์แม่คำผาง หน้า ๗๖-๗๗

[7] Pleiades in folklore and literature”, Wikipedia, retrieved May,8,2019 อ้างอิง Dennis M. Harness. The Nakshatras: The Lunar Mansions of Vedic Astrology. Lotus Press (Twin Lakes WI, 1999.) ISBN 978–0–914955–83–2[page needed]

[8] https://web.archive.org/web/20151104154237/http://idp.bl.uk/education/astronomy/sky.html

[9] Andrews, Munya (2004). The Seven Sisters of the Pleiades: Stories from Around the World. North Melbourne, Victoria, Australia: Spinifex Press. p. 293. ISBN 978–1–876756–45–1.

[10] Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

[11] Adams, Joseph D.; Stauffer, John R.; Monet, David G.; Skrutskie, Michael F.; et al. (2001). “The Mass and Structure of the Pleiades Star Cluster from 2MASS”. Astronomical Journal. 121 (4): 2053–2064. arXiv:astro-ph/0101139. Bibcode:2001AJ….121.2053A. doi:10.1086/319965. S2CID 17994583.

[12] Abramson, Guillermo (20 August 2018). “The Distance to the Pleiades According to Gaia DR2”. Research Notes of the AAS. 2 (3): 150. Bibcode:2018RNAAS…2..150A. doi:10.3847/2515–5172/aada8b

[13] ข้อมูลดัดแปลงจากข้อมูลของดาวลูกไก่ใน https://en.wikipedia.org/wiki/Pleiades

[14] Encyclopedia Britanica, https://www.britannica.com/topic/Atlas-Greek-mythology , Retrieved September 5, 2022

[15] https://www.theoi.com/Titan/TitanAtlas.html#:~:text=ATLAS%20was%20the%20Titan%20god,the%20heavens%20upon%20his%20shoulders.

[16] https://en.wikipedia.org/wiki/Atlas_(star)

[17] https://en.wikipedia.org/wiki/Pleione_(star)

[18] Tanaka, K.; et al. (2007). “Dramatic Spectral and Photometric Changes of Pleione (28 Tau) between 2005 November and 2007 April” (PDF). Publications of the Astronomical Society of Japan. 59 (4): L35–L39. Bibcode:2007PASJ…59L..35T. doi:10.1093/pasj/59.4.l35. Retrieved 2010–06–13.

[19] Katahira, Jun-Ichi; et al. (1996). “Period Analysis of the Radial Velocity in PLEIONE”. Publications of the Astronomical Society of Japan. 48 (2): 317–334. Bibcode:1996PASJ…48..317K. doi:10.1093/pasj/48.2.317.

[20] Richard Hinckley Allen, Star names their lore and meaning, Dover publications, Inc., NewYork,1963, PP.403

[21] Touhami, Y.; Gies, D. R.; Schaefer, G. H.; McAlister, H. A.; Ridgway, S. T.; Richardson, N. D.; Matson, R.; Grundstrom, E. D.; Ten Brummelaar, T. A.; Goldfinger, P. J.; Sturmann, L.; Sturmann, J.; Turner, N. H.; Farrington, C. (2013). “A CHARA Array Survey of Circumstellar Disks around Nearby Be-type Stars”. The Astrophysical Journal. 768 (2): 128. arXiv:1302.6135. Bibcode:2013ApJ…768..128T. doi:10.1088/0004–637X/768/2/128. S2CID 9488327.

[22] Gebran, M.; Monier, R. (2008). “Chemical composition of a and F dwarfs members of the Pleiades open cluster”. Astronomy and Astrophysics. 483 (2): 567. arXiv:0802.3148. Bibcode:2008A&A…483..567G. doi:10.1051/0004–6361:20079271. S2CID 18923359.

[23] https://www.theoi.com/Nymphe/NympheElektra1.html retrieved September 7,2022

[24] https://en.wikipedia.org/wiki/Electra_(star)

[25] Grady, C. A.; Bjorkman, K. S.; Snow, T. P.; Sonneborn, George; Shore, Steven N.; Barker, Paul K. (April 1989). “Highly ionized stellar winds in Be stars. II — Winds in B6-B9.5e stars”. Astrophysical Journal, Part 1. 339: 403–419. Bibcode:1989ApJ…339..403G. doi:10.1086/167306.

[26] Ducati, J. R (2002). “VizieR Online Data Catalog: Catalogue of Stellar Photometry in Johnson’s 11-color system”. CDS/ADC Collection of Electronic Catalogues. 2237. Bibcode:2002yCat.2237….0D.

[27] Frémat, Y.; Zorec, J.; Hubert, A.-M.; Floquet, M. (September 2005). “Effects of gravitational darkening on the determination of fundamental parameters in fast-rotating B-type stars”. Astronomy and Astrophysics. 440 (1): 305–320. arXiv:astro-ph/0503381. Bibcode:2005A&A…440..305F. doi:10.1051/0004–6361:20042229. S2CID 19016751.

[28] Zorec, J.; Frémat, Y.; Cidale, L. (October 2005). “On the evolutionary status of Be stars. I. Field Be stars near the Sun”. Astronomy and Astrophysics. 441 (1): 235–248. arXiv:astro-ph/0509119. Bibcode:2005A&A…441..235Z. doi:10.1051/0004–6361:20053051. S2CID 17592657.

[29] Harmanec, P (2000). “Physical Properties and Evolutionary Stage of Be Stars”. The be Phenomenon in Early-Type Stars. 214: 13. Bibcode:2000ASPC..214…13H.

[30] https://www.theoi.com/Nymphe/NympheMaia.html

[31] https://en.wikipedia.org/wiki/Maia_(star)

[32] https://greekgodsandgoddesses.net/goddesses/merope/

[33] https://en.wikipedia.org/wiki/Merope_(star)

[34] https://greekgodsandgoddesses.net/goddesses/taygete/

[35] https://en.wikipedia.org/wiki/19_Tauri

[36] Professor James B. (Jim) Kaler. “TAYGETA (19 Tauri)”. University of Illinois. Retrieved 2022–10–10 , . http://stars.astro.illinois.edu/sow/taygeta.html

[37]https://greekgodsandgoddesses.net/goddesses/celaeno/ .

[38] Richard Hinckley Allen, Star names their lore and meaning, Dover publications, Inc., NewYork,1963, PP.407

[39] https://en.wikipedia.org/wiki/Celaeno_(star) อ้างอิงจาก Wolff, Sidney C. (December 1990). “Luminosities, masses, and ages of B-type stars”. Astronomical Journal. 100: 1994. Bibcode:1990AJ….100.1994W. doi:10.1086/115654.

[40] https://en.wikipedia.org/wiki/Sterope_(Pleiad)#cite_note-3

[41] https://en.wikipedia.org/wiki/21_Tauri อ้างอิงจาก Zorec, J.; Royer, F. (2012), “Rotational velocities of A-type stars. IV. Evolution of rotational velocities”, Astronomy & Astrophysics, 537: A120, arXiv:1201.2052, Bibcode:2012A&A…537A.120Z, doi:10.1051/0004–6361/201117691, S2CID 55586789.

[42] https://en.wikipedia.org/wiki/22_Tauri

--

--

Sathon Vijarnwannaluk
Sathon Vijarnwannaluk

Written by Sathon Vijarnwannaluk

นักจับฉ่ายฟิสิกส์( multi-disciplinary physicist) สนใจเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ

No responses yet