กลุ่มดาวจักรราศี

Sathon Vijarnwannaluk
3 min readJul 21, 2021

--

ในบรรดากลุ่มดาวต่างๆมีกลุ่มดาวที่สำคัญ 12 กลุ่ม ซึ่งอยู่ในระนาบการโคจรของโลก(หรือดวงอาทิตย์) เมื่อสังเกตจากโลก จึงจะเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปตามกลุ่มดาวเหล่านี้ตามเส้นสุริยวิถี(Ecliptic) โดยเริ่มนับจากจุดที่เส้นสุริยวิถี ตัดกับเส้นศูนย์สูตรท้องฟ้าในเดือนมีนาคม หรือที่เรียกว่าจุดวสันตวิษุวัติ(Vernal Equinox) ซึ่งแสดงรายละเอียดตามตารางที่ 1 ภาพที่ 1 แสดงทางเดินของโลกรอบดวงอาทิตย์ และกลุ่มดาวจักรราศีในแต่ละเดือน

ภาพที่ 1 แสดงทางเดินของโลกรอบดวงอาทิตย์

ตารางที่ 1 กลุ่มดาวจักรราศี

แม้ว่าจะแบ่งกลุ่มดาวจักรราศีเป็น 12 กลุ่มในช่วงห่างเท่าๆกัน แต่ในความเป็นจริงขอบเขตของกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มไม่เท่ากันดังนั้นช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มจะไม่เท่ากันด้วย และในความเป็นจริงทางโคจรของดวงอาทิตย์ผ่านกลุ่มดาวทั้งสิ้น 13 กลุ่ม โดยกลุ่มที่เพิ่มมาคือกลุ่มดาวคนแบกงู (Ophiuchus) ซึ่งอยู่ขนานทางด้านเหนือของกลุ่มดาวราศีพิจิก ตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่ในราศีพิจิกสั้นๆ ก่อนจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกงู แต่เนื่องจากสองกลุ่มคู่ขนานกันจึงเรียกรวมกันว่าราศีพิจิก ตารางที่ 2 แสดงช่วงเวลาที่ตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวต่างๆ (ข้อมูลจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Zodiac อ้างอิงจาก “Astronomical Almanac Online, U.S. Naval Observatory 2008”. เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 )

ตารางที่ 2 ช่วงเวลาที่ตำแหน่งปรากฏของดวงอาทิตย์อยู่ในกลุ่มดาวต่างๆ

ความเป็นมาของกลุ่มดาวจักรราศียังค่อนข้างไม่เป็นที่ทราบชัดเจน แต่หลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า กลุ่มดาวจักรราศีอาจถูกกำหนดขึ้นในสมัยอารยธรรมเมโสโปแตเมีย ได้แก่อาณาจักรสุเมเรียน และบาบิโลเนียน[1] เนื่องจากพบแผ่นดินเผาในยุคต่างๆของสุเมเรียนและบาบิโลเนียนที่มีรูปภาพบ่งชี้ถึง ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวเคราะห์ต่างๆ และมีกลุ่มดาวต่างๆประกอบ เนื่องจากคนโบราณให้ความสนใจต่อการเคลื่อนที่ขอดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ และการเกิดขึ้นของฤดู ดังนั้น กลุ่มดาวที่อยู่ตามเส้นสุริยวิถี(Ecliptic) จึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นแผ่นจารึกของชาวสุเมเรียน ในสมัยราชวงศ์มาดุคที่แสดง ภาพของ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และวัตถุที่สันนิษฐานว่าเป็นดาวเคราะห์ต่างๆดังภาพ

ภาพจารึกของชาวสุเมเรียน แสดงภาพของดวงอาทิตย์(1) ดวงจันทร์(2) ดาวศุกร์(3) ดาวพฤหัสบดี(8) รวมทั้งกลุ่มดาวในจักรราศี เช่น แมงป่อง(16) วัว(14) ภาพจาก Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่ากลุ่มดาวจักรราษีกลุ่มแรกๆ ที่มีการกำหนดขึ้นตั้งแต่สมัยสุเมเรียนได้แก่ กลุ่มดาววัว(ราศีพฤษภ) กลุ่มดาวสิงโต(ราศีสิงห์) และกลุ่มดาวแมงป่อง(ราศีพิจิก)นอกจากนี้ยังมีกลุ่มดาวคนเทน้ำ(ราศีกุมภ์) ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วง ประมาณ 4400–2200 ปีก่อนคริสตกาล โดยมีการระบุถึง ดาวลูกไก่(Pleiades) ดาว Regulus และ ดาวAntares ในบันทึกโบราณ(โดยใช้ชื่ออื่น)ในช่วง 4000 ปีก่อนและค่อยระบุถึงกลุ่มดาวชัดเจนขึ้นในภายหลัง ซึ่งจากการเลื่อนของจุดvernal equinox ที่ปัจจุบันอยู่ในราศีมีน เมื่อประมาณ4000 ปีก่อน จะอยู่ในกลุ่มดาววัว(ราศีพฤษภ) และจุด Summer Soltices จะอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต(ราสีสิงห์) และจุด Autumnal Equinox จะอยู่ในกลุ่มดาวแมงป่อง(ราศีพิจิก) และ Winter Soltices อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ ซึ่งมีจารึกภาพในแผ่นดินเหนียวของสุเมเรียน ถึง Ea ที่ยืนบนปิรามิด (Ziggurat) แล้วเทน้ำอออกจากหม้อน้ำ ในนอกจากนั้นในสมัยดังกล่าวยังได้มีการพูดถึงกลุ่มดาวที่เกี่ยวข้อ เช่น กลุ่มปลาทางใต้(Piscis Austrinus) กลุ่มดาวนกอินทรี (Aquila) กลุ่มดาวงูใหญ่และนกกา(Hydra and Corvus)

กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่สองน่าจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2300–1100 ปี ก่อนคริสตกาล ได้แก่กลุ่มดาวคนคู่(ราศีเมถุน) กลุ่มดาวหญิงสาว(ราศีกันย์) กลุ่มดาวคนยิงธนู(ราศีธนู) และกลุ่มดาวปลาคู่(ราศีมีน) ซึ่งถ้าสังเกต จะเป็นกลุ่มที่คั่นกลางระหว่างกลุ่มหลักสี่กลุ่มที่เกิดในช่วงแรก โดยมีจารึกอยู่ในแผ่นดินเหนียวของเมโสโปเตเมียถัดมาจากกลุ่มแรก โดยมีสาเหตุจากด้านความเชื่อมากกว่าด้านฤดูกาล เช่นกลุ่มดาวหญิงสาวซึ่งในภาพจารึกจะถือรวงข้าว เป็นสัญญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์จะอยู่ตามหลังกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งเป็นจุดของSummer Soltices ขณะที่กลุ่มดาววัว ตามหลังกลุ่มดาวคันไถของบาบิโลเนีย(กลุ่มดาวtriangulum ปัจจุบัน) เป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะปลูก

กลุ่มดาวคนคู่(ราศีมิถุน) มีลักษณะเด่นของกลุ่มดาวที่วางตัวขนานกัน ซึ่งในสมัยเฒโสโปเตเมียมีกล่าวถึงเทพเจ้า 2 องค์ได้แก่ Meslemta-ea และ Lugalgirr ที่ถืออาวุธเฝ้าประตูเข้าพบ เทพ Nergal ซึ่งต่อมาAratus ได้กล่าวถึงกลุ่มดาวคนคู่เช่นกันโดยไม่ระบุชื่อ ต่อมา Erastosthenes กล่าวถึงว่ามีชื่อว่า Caster และ Polydeuces ซึ่งคาดว่ามีการปรับตำนานมาเป็น Caster และPollax ในภายหลัง

กลุ่มดาวหญิงสาว(Virgo) ในรูปของกลุ่มดาวโบราณกลุ่มดาวหญิงสาวมักจะเขียนเป็นรูปหญิงสาวถือรวงข้าว และมีปีกซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ได้แก่ Demeter ในเทพนิยายกรีก Ishtar ในเทพนิยายของบาบิโลเนียน และ Isis ในเทพนิยายอียิปต์ ซึ่งทั้งสามเป็นเทพธิดาแห่งความอุดมสมบูรณ์ และตำนานมีเรื่องราวที่จะต้องช่วยเหลือบุคคลออกจากโลกหลังความตาย ในกรณีของDemeter คือช่วยเหลือลูกสาวคือ Persephone กรณีของ Isis คือช่วยนำเทพ Osiris ให้พ้นจากความตาย และเทพISthar คือช่วยสามีคือเทพ Dumuzi ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าทั้งสามเทพธิดาคือองค์เดียวกันและมีรากมาจากอารยธรรมบาบิโลนที่มีอายุมากที่สุด

กลุ่มดาวคนยิงธนู(Sagitarias) น่าจะเกิดขึ้นในสมัยประมาณ 1000 ปีก่อนคริสตกาล ในอารยธรรมบาบิโลเนียน โดยพบจารึกในสมัยนั้นที่เรียกว่าจารึก Mulapin ตามคำพูดแรกในจารึก ซึ่งเป็นตำราทางดาราศาสตร์ของบาบิโลน ซึ่งบันทึกนี้ แสดงกลุ่มดาวจำนวนมาก รวมทั้งกลุ่มดาวที่โคจรรอบขั้วฟ้าเหนือ และกลุ่มดาวจักรราศีที่มากขึ้น ในจำนวนนี้กล่าวถึงกลุ่มดาวที่อยู่ภายหลังกลุ่มดาวแมงป่อง โดยมีชื่อเรียกว่า Pabilsag หรือมีอีกชื่อว่า Nudu ซึ่งแปลว่าทหาร แต่ภาพสอดคล้องกับจารึกจากช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล ที่เป็นรูปคนครึ่งแพะถือธนู ดังแสดงในภาพ

ภาพจากจารึกโบราณของบาบิโลเนียนแสดงกลุ่มดาวสามกลุ่มที่สอดคล้องกับกลุ่มดาวในจักรราศี ได้แก่กลุ่มดาวคนถือหม้อน้ำ กลุ่มดาวรูปหัวแกะ กลุ่มดาวคนครึ่งแพะที่ถือธนู และอยู่ใกล้กับกลุ่มดาวรูปแมงป่องภาพจาก Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

กลุ่มดาวปลาคู่(ราศีมีน) เป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และจางแต่มีการจารึกไว้ในจารึก Mulapin เช่นกัน แต่ในรูปที่มีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันมาก และไม่ได้บรรยายว่ามีส่วนใดเป็นปลา โดยเรียกบริเวณรูปปลาทางตะวันตกว่า Shinunutu และปลาทางเหนือว่า Anumitu ซึ่งหมายถึงเทพเจ้าแห่งการคลอดบุตร แต่จารึกของบาบิโลเนียสมัยหลัง เรียกกลุ่มดาวนี้ว่า DU.NU.NU หรือ Rikis-nu mi ซึ่งหมายถึงปลาและเชือก ซึ่งเป็นการระบุที่ชัดเจนถึงกลุ่มดาวปลาคู่ และเมื่อพิจารณาประกอบกับราสีกุมภ์ที่เกิดก่อนเป็นรูปคนเทหม้อน้ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการอ้างถึงกลุ่มดาวรูปปลาที่ออกมาจากหม้อน้ำเช่นกัน ซึ่ง John H. Rogers เสนอว่า[2] กลุ่มดาวดังกล่าวน่าจะสืบเนื่องกับกลุ่มคนแบกหม้อน้ำซึ่งในรูปวาดของบาบิโลน เป็นรูปคนเทน้ำออกจากคนโท ซึ่งน่าจะมีปลารวมอยู่ด้วยรูปดั้งเดิมเป็นปลากับกระแสน้ำ แจ่การบันทึกต่อมาจึงเปลี้ยนไปเป็นปลาที่ผูกต่อด้วยเชือก

กลุ่มดาวจักรราศีกลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่มีอยู่ในจารึก Mulapin เช่นกัน แต่เป็นกลุ่มที่จาง และไม่ชัดเจนเท่าแปดกลุ่มที่อยู่ข้างต้น สี่กลุ่มสุดท้ายนี้ได้แก่กลุ่มดาวเขาแกะ(ราศีเมษ) กลุ่มดาวปู(ราศีกรกฎ) กลุ่มดาวตาชั่ง(ราศีตุล) กลุ่มดาวแพะทะเล(ราศีมกร)

กลุ่มดาวเขาแกะ(ราศีเมษ) ปรากฏครั้งแรกในจารึก Mulapin ในรูปของกลุ่มดาวที่เกี่ยวกับการเกษตรโดนระบุไว้ว่าเป็นกลุ่มดาวเกี่ยวกับคนที่ทำงานในฟาร์ม แต่มีข้อสันนิษฐานหลายข้อถึงที่มาของกลุ่มดังกล่าว แต่ในจารึกก่อนหน้าก็มีการพบสัญญลักษณ์หัวแกะในหลายๆแห่ง เช่น Ea ในอารยธรรมเมโสโปเตเมีย และ Ammon ในอียิปต์ ซึ่งเชื่อว่าแรกเริ่มกลุ่มดาวนี้เป็นรูปตัวแทนของเกษตรกรแต่ต่อมาเปลี่ยนเป็นรูปแกะ เนื่องจากการกร่อนเสียงเรียก หรือการทดแทนสัญญลักษณ์ แม้ว่ากลุ่มดาวนี้จะไม่มีดาวสว่าง แต่มีความสำคัญเนื่องจากเมื่อประมาณ 2200 ปีก่อน เป็นตำแหน่งของจุด vernal equinox ซึ่งทำให้เกิดการเรียกจุดดังกล่าวว่า จุดเริ่มของราศีเมษ( First point of Aries)

กลุ่มดาวปู(ราศีกรกฎ) แม้ว่าจะเป็นกลุ่มดาวที่มีดาวที่จางที่สุดในบรรดากลุ่มดาวจักรราศี แต่ก็มีการกล่าวถึงในจารึดของเมโสโปเตเมีย/บาบิโลเนีย ในช่วงประมาณ1100 ปีก่อนคริสตกาล ในจารึกกลุ่มดาว 36 ดวงที่จัดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 3 ดวงในแต่ละเดือน ซึ่งมีชื่อเรียกว่าจารึก “Three star Each” ซึ่งแม้ว่าจะมีที่ผิดบ้าง และมีการระบุดาวเคราะห์ไปแทนบ้าง แต่มีจารึกถึง ดาว “AL.LUL” หรือ “Alluuttum” ซึ่งแปลว่าปู และในจารึก Mulapin ก็มีกล่าวถึง AL.LUL ว่าปู หรือที่นั่งของ Anu แต่ตำแหน่งที่ระบุมีการสับสนกันระหว่างกลุ่มดาวปู หรือดาวProcyon ในกลุ่มดาวหมาเล็กในปัจจุบัน ในอียิปต์ กลุ่มดาวปูเป็นตัวแทนของแมลงสการับด้วยเช่นกัน

กลุ่มดาวตาชั่ง(ราศีตุล) แม้ว่ากลุ่มดาวตาชั่งจะมีรูปร่างเป็นตาชั่งมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ แต่ในจารึก Mulapin เรียกชื่อกลุ่มดาวนี้ว่า ZI.BA.AN.NA.:ซึ่งแปลว่าตาชั่ง หรือเขา(ก้าม) ของแมงป่องนอกจากนี้ Aratus และ Ptolemy เรียกกลุ่มนี้รวมๆว่า Chelai ซึ่งแปลว่า “ก้าม” และชื่อดาว b-Lib มีชื่อสามัญว่า ZubenesChamali ซึ่งแปลว่า the northern Claw หรือก้ามทางเหนือดูจะสนับสนุนแนวทางนี้อยู่เช่นกัน

กลุ่มดาวแพะทะเล(กลุ่มดาวราศีมกร) เดิมเป็นกลุ่มที่จัดเป็นตำแหน่งของWinter Soltices (:ซึ่งปัจจถบันเลื่อนมาอยู่ในราษีธนู) แต่เป็นกลุ่มดาวโบราณเพราะในจารึกที่มีรูปหัวแกะซึ่งหมายถึงกลุ่มดาวเขาแกะนั้นก็พบรูปแพะทีมีหางเป็นปลาประกอบอยู่ด้วย ซึ่งมีอายุเก่าแก่ไปถึงสองพันปีก่อนคริสตกาลทีเดียว

ในช่วงประมาณ 750 ปีก่อนคริสตกาล ชาวบาบิโลเนียนเริ่มการบันทึกปรากฎการณ์ต่างๆและตำแหน่งของดาวฤกษ์และดาวเคราะห์โดยบอกตำแหน่งในหน่วยองศา ลิบดา และพิลิบดา และบอกตำแหน่งดาวเคราะห์เทียบกับตำแหน่งจักรราศีทั้ง 12 และดาวฤกษ์ 31 ดวง รอบจักรราศี ที่พัฒนาไปสู่ระบบ decans ในอารยธรรมอียิปต์ ต่อมาได้มีการแบ่งขนาดของกลุ่มดาวจักรราศีเป็น 12กลุ่มเท่าๆกันในราว 600 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนหน้าการเกิดจักราศีในโหราศาสตร์ในช่วง 475 ปีก่อนคริสตกาล และยังได้มีการบันทึกตำแหน่งของจุดวสันตวิษุวัต อยู่ที่ตำแหน่ง 15 องศาจาก lu-Hanga(แกะ) และต่อมาลดลงเป็น 10 และ 8องศาตามลำดับ จนในที่สุดกำหนดอยู่ที่กลางกลุ่มของกลุ่มดาวแกะ ซึ่งมีการคาดว่าชาวบาบิโลนรู้จักการส่ายของแกนหมุน แต่อย่างไรก็ดี แผนที่ดาวของบาบิโลนจัดจุดวสันตวิษุวัตอยู่ที่ 8 องศาคงที่จวบจน Hippachus มาปรับแก้ในภายหลัง

โดยสรุป กลุ่มดาวจักรราศีถูกกำหนดขึ้นมานานก่อนหน้าช่วงอารยธรรมกรีกโรมัน แต่มีรากย้อนไปถึงสมัยบาบิโลเนีย หลักฐานอีกประการที่ว่ากลุ่มดาวจักรราศีเกิดมานานแล้วคือภาพจารึกที่วิหาร Dendara (อยกแปลว่า “เด่นดารา” หรือ “แดนดารา” ) ซึ่งแสดงกลุ่มดาวจักรราศี อยู่ร่วมกับกลุ่มดาวของอียิปต์ และนอกจากนั้นยังมีกลุ่มดาวอีกหลายกลุ่มที่มีส่วนร่วมกับกลุ่มดาวในปัจจุบัน ซึ่งภาพจารึกนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัย 50 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งร่วมสมัยกับกรีกและโรมัน

ภาพกลุ่มดาวจากวิหารdendara แสดงกลุ่มดาวจักราศี และกลุ่มดาวอื่นบางส่วน(Orion, Corvus, Hydra) ภาพจาก Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

เอกสารอ้างอิง

[1] Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

[2] Origin of the ancient constellations: I. The Mesopotamian Traditions โดย John H. Rogers, J. Br. Astron. Assoc., 108, 1, 1998

--

--

Sathon Vijarnwannaluk
Sathon Vijarnwannaluk

Written by Sathon Vijarnwannaluk

นักจับฉ่ายฟิสิกส์( multi-disciplinary physicist) สนใจเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ

No responses yet